นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ร่วมลงนามให้การสนับสนุนวงเงิน 6,200 ล้านบาท จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC) โดยมีผู้เข้าร่วมเซ็นสัญญาประกอบด้วย Mr. Kazuya Suzuki หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ประจำประเทศไทย และ Mr. Thomas Lim หัวหน้าแผนกสถาบันการเงินโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (SMBC)
“การสนับสนุนทางด้านการเงินในครั้งนี้ ถือเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อการเป็นผู้นำธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ของประเทศไทย และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ซึ่ง MTC ถือเป็นมาตรฐานในการเสริมศักยภาพของแผนพัฒนาบริษัทฯ โดยวงเงินทั้งหมดได้รับการปิดความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนเป็นที่เรียบร้อย”นายชูชาติกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย จำนวน 400,000 ราย และบริษัทมีความพร้อมในการเดินหน้าทางธุรกิจ โดยเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการเติบโตของธุรกิจ กว่า 30 ปีที่ผ่านมา MTC เติบโตจากการให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย และเป็นส่วนหนึ่งในการมอบโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่กลุ่มลูกค้าฐานราก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพอิสระ หรือกลุ่มรับจ้างทั่วไป หากลูกค้ามีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงิน สามารถนำหลักทรัพย์มายื่นขอสินเชื่อ กับทางบริษัทฯได้ โดยบริษัทฯคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม เพราะเข้าใจและเล็งเห็นถึงความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม บริษัทฯยังคงมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ให้มีความหลากหลาย พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจหลัก
รวมทั้ง MTC มีการปรับตัวเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ในทุกมิติ สอดรับในยุคที่การใช้ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ภายใต้มาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
สำหรับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2565 ยังอยู่ในทิศทางที่ดี หลังบรรยากาศทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น และสถานการณ์ของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อ เพื่อการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ขยายตัวตามไปด้วย ทำให้มั่นใจว่าในปีนี้พอร์ตสินเชื่อรวมจะเติบโตประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จากธุรกิจหลักรวมกับธุรกิจใหม่ บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) และเมืองไทย เพย์ เลเทอร์ (MTPL) เป็นธุรกิจที่เข้ามาสนับสนุนการเติบโตในอนาคต
นอกจากนี้ พอร์ตสินเชื่อของ MTC แบ่งเป็น ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ รวมถึงสินเชื่อโฉนดที่ดิน อยู่ที่มากกว่า 80% ที่เหลือมาจากการปล่อยสินเชื่ออื่นๆ ขณะที่ ณ สิ้นไตรมาส 2/2565 บริษัทมีสาขาให้บริการทั้งหมดอยู่ที่ 6,475 สาขา รวมทั้งมีแผนขยายสาขาใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายฐานลูกค้าและช่องทางสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง