หน้าแรก ข่าวเศรษฐกิจ หุ้นไทยเช้านี้ดิ่งต่ำสุด 27.66 จุด เผชิญภาวะ risk-off นักลงทุนลดถือสินทรัพย์เสี่ยง

หุ้นไทยเช้านี้ดิ่งต่ำสุด 27.66 จุด เผชิญภาวะ risk-off นักลงทุนลดถือสินทรัพย์เสี่ยง

1162
0

ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ดิ่งหนักทำจุดต่ำสุด 27.66 จุด แตะระดับ 1,586.68 จุด เผชิญภาวะ risk-off นักลงทุนลดถือสินทรัพย์เสี่ยงในมือ หลังเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง 8.3% สูงกว่าตลาดคาด ด้าน “บล.ฟิลลิป” ประเมิน กนง.ไทยเริ่มหมดทางเลือก เพื่อจัดการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเช้านี้ว่า SET Index เปิดตลาดดิ่งหนักทำจุดต่ำสุดที่ 27.66 จุด แตะระดับ 1,585.68 จุด วันนี้มีโอกาสย่อตัวลงต่อจากภาวะ Risk off หลังวานนี้ตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐออกมาที่ 8.3% ขยายตัวสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 8.1% ขณะที่ Core CPI ขยายตัว 6.2% สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 6.0% เช่นกัน สร้างความผันผวนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหนัก

โดยเฉพาะดัชนี Nasdaq ที่มีสัดส่วน Growth Stock หรือหุ้นเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ถูกกดดันด้วยความกังวลในทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่จะตามมาเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทิศทางเงินลงทุนจึงหันเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยกว่าแทน เช่น ดอลลาร์สหรัฐ Dollar Index ที่ดีดตัวขึ้นทะลุ 104 จุด, ทองคำ เข้าใกล้ระดับ 1,850 เหรียญ และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ปรับตัวลงแตะระดับ 2.91% คาดมีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติในไทยอาจลดปริมาณการถือสินทรัพย์เสี่ยงในมือ เพื่อหันไปถือสินทรัพย์ปลอดภัยด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ช่วยประคับประคองการอ่อนตัวของตลาด ได้แก่ หุ้นที่อิงกับบาทอ่อนที่คาดยังคงไปต่อ หลังค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งทางฝ่ายวิจัยยังคงมุมมองเดิมว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้งราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นแตะ 105 ดอลลาร์/บาร์เรล ก็ยังเป็นแรงหนุนส่วนหนึ่งต่อหุ้นในกลุ่มพลังงาน

ขณะที่นักลงทุนบางส่วนยังรอการประกาศปรับดัชนี MSCI ในวันพรุ่งนี้ ทางฝ่ายคาดอาจเข้ามาสร้างความผันผวนเพิ่มเติมในระหว่างวันได้ (หุ้นที่ตลาดคาดจะถูกนำเข้าสู่การคำนาณดัชนี MSCI อาทิ JMT, COM7, TIDLOR, BANPU)

กลยุทธ์การลงทุน เน้นลงทุนใน 1.หุ้นบาทอ่อน เช่น SAPPE, GFPT, TU, ASIAN, PSL, TTA 2.Domestic Play เช่น MAJOR, CPN, ERW, CENTEL 3.Inflation hedge (Commodity และพลังงาน) เช่น PTTEP, TOP, NER 4.กลุ่มรับประโยชน์ดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างธนาคาร เช่น BBL

ท่าทีของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไทยในช่วงก่อนหน้าเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างไม่เร่งรีบเมื่อเทียบกับเฟด แต่การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาทจะสะท้อนทิศทางการไหลออกของเงินลงทุนมากขึ้นเป็นลำดับ และภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อหลังลอยตัวราคาดีเซล จะเริ่มกดดันให้ กนง.จำเป็นจะต้องเริ่มพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเร็วขึ้น เพื่อจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อท่ามกลางภาพการค่อย ๆ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจ