ดอลลาร์แข็งค่า หลังเฟดส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ไทยเกินดุลการค้า 123.3 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขาดดุลการค้า หนุนเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (25/3) ที่ระดับ 33.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
วันที่ 25 มีนาคม 2565 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (21/3) ที่ระดับ 33.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/3) ที่ระดับ 33.30/32 บาท โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนกลับมาอีกครั้ง จากความคาดหวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
โดยนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 12 ครั้งในปีนี้ให้อยู่ในระดับที่สูงกว่า 3% เพื่อแสดงว่าเฟดมีความจริงจังในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี กำลังส่งผลกระทบต่อประชาชน ก่อนหน้านี้ นายบูลลาร์ดเป็นเจ้าหน้าที่เฟดเพียงรายเดียวที่ลงมติให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง ๆ ละ 0.25% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00% ในปลายปีนี้ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2566 แต่จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2567
ในวันอังคารค่าเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่อง หลังนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดเงินเฟ้อ
นายพาวเวลล์กล่าวในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐว่า “ตลาดแรงงานของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมาก และอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับสูงเกินไป ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง โดยเฉพาะย่างยิ่งหากเราพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง เราก็จะทำและหากเราพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินนโยบายคุมเข้มมากกว่าที่เคยดำเนินการมา เราก็จะทำเช่นกัน”
นายพาวเวลล์ระบุว่า สถานการณ์ด้านเงินเฟ้อย่ำแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ก่อนที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะปะทุขึ้นก็ตาม พร้อมกับเตือนว่า ผลกระทบของสงครามและการที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ นายพาวเวลล์กล่าวว่า ผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นทั่วโลก รวมทั้งสงครามและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในต่างประเทศและจะยิ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานตกอยู่ในภาวะชะงักงันมากขึ้นอีก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะลุกลามบานปลายมาถึงเศรษฐกิจสหรัฐด้วย
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในช่วงสัปดาห์นี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 2% สู่ระดับ 772,000 ยูนิตในเดือน ก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 810,000 ยูนิต โดยยอดขายบ้านใหม่ได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่พุ่งขึ้น และการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 28,000 รายสู่ระดับ 187,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2512 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 212,000 ราย
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐลดลง 0.9% สู่ระดับ 2.179 แสนล้านดอลลาร์ใน Q4/64 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 2,180 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของตัวเลขขาดดุลมีสาเหตุจากการพุ่งขึ้นของการนำเข้าภาคสินค้าที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.85 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2564 ขณะที่การส่งออกภาคสินค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.76 ล้านล้านดอลลาร์
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ศบค. มีมติเห็นชอบให้ปรับมาตรการการเปิดรับผู้เดินเข้าประเทศแบบ Test & Go ซึ่งได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ไม่ต้องแสดงตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ในช่วง 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้าประเทศ แต่หลังจากเดินทางเข้ามาแล้วยังคงให้ตรวจ RT-PCR ในวันแรก จากนั้นในวันที่ 5 ให้ตรวจแบบ ATK ด้วยตัวเลขแล้วแจ้งผลผ่านแอปพลิเคชั่น พร้อมทั้งเตรียมพิจารณาปรับลดวงเงินประกันเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวะที่เหมาะสม
ขณะที่เผยความคืบหน้ามาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศปี 2565 ประกอบด้วยโครงการเพิ่มสำหรับซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และโครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 40.85 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวมทั้งหมด 61,284.74 ล้านบาท
ต่อมาในวันพฤหัสบดี (24/3) นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า การส่งออกเดือน ก.พ. 65 มีมูลค่า 23,483.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.2% จากที่ตลาดคาดขยายตัว 10-11% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 23,359.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.8% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 123.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการขาดดุลการค้า ด้วยเหตุนี้ทำให้เป็นปัจจัยหนุนเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.32-33.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (25/3) ที่ระดับ 33.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (21/3) ที่ระดับ 1.1044/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/3) ที่ระดับ 1.1056/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ในขณะที่รัฐบาลของประเทศสมาชิก EU กำลังพิจารณาว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียหรือไม่
โดยในสัปดาห์นี้บรรดาผู้นำ EU จะร่วมหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เกี่ยวกับนโยบายที่จะใช้ตอบโต้รัสเซียซึ่งใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อเดือนที่แล้ว อย่างไรก็ดี มีรายงานว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของ EU มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมพลังงานของรัสเซีย โดยเยอรมนีเตือนว่า กลุ่ม EU จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำมันของรัสเซียมากเกินกว่าที่จะตัดสินใจระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย
ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0959-1.1069 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/3) ที่ระดับ 1.1012/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (21/3) ที่ระดับ 119.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/3) ที่ระดับ 118.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนยังคงปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องจากความแตกต่างของนโยบายการเงินระหว่างเฟดและธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)
โดยผู้ว่าการบีโอเจระบุว่า บีโอเจยังไม่เห็นถึงความจำเป็นในการคุมเข้มนโยบายการเงิน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ดีดตัวขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเงินเยนยังคงปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ จากความแตกต่างของนโยบายการเงินระหว่างเฟดและธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม จากที่รัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติงบประมาณแผ่นดิน สำหรับปีงบประมาณ 2565 เป็นวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.03-122.43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/3) ที่ระดับ 121.62/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ