หน้าแรก ข่าวเศรษฐกิจ ‘เอเซีย พลัส’ ให้เป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ สูงสุดแตะ 1,860 จุด หลังพบเงินในระบบสูงกว่า 16.4 ล้านล.

‘เอเซีย พลัส’ ให้เป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ สูงสุดแตะ 1,860 จุด หลังพบเงินในระบบสูงกว่า 16.4 ล้านล.

1319
0
© Matichon ภาพประกอบข่าว

‘เอเซีย พลัส’ ให้เป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ สูงสุดแตะ 1,860 จุด หลังพบเงินในระบบสูงกว่า 16.4 ล้านล.

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ตลาดหุ้นไทยยังมีทิศทางขาขึ้น ประเมินภาพรวมการลงทุนในช่วงไตรมาส 1/2565 ตลาดหุ้นไทยยังปรับขึ้นต่อ โดยมีปัจจัยสนับสนุน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.มูลค่าหุ้น (แวลูเอชั่น) ในเชิงเปรียบเทียบที่น่าสนใจ คือ ตลาดหุ้นไทยมี Forward Market Earning Yield Gap 2565 อยู่ที่ 4.4% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 3.9% และสูงกว่าตลาดหุ้นสหรัฐมี Forward Market Earning Yield Gap 2565 จะลดลงเหลือ 3.7% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ภายใต้การปรับดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้ง

นายเทิดศักดิ์กล่าวว่า 2.สภาพคล่องในประเทศยังเป็นปัจจัยหนุน คาดอัตราดอกเบี้ยไทย จะคงอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.5% ไปตลอดปี 2565 และเงินฝากออมทรัพย์และฝากประจำในระบบรวมกันล่าสุด อยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 3.คาดกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยปี 2565 อยู่ที่ 9.4 แสนล้านบาท อยู่ที่ 81.8 บาทต่อหุ้น หรือเติบโต 11.2% สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐ คาดเติบโต 6% ซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) และ 4.คาดการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2565 อยู่ที่ 3.5% เติบโตเพิ่มขึ้นจาก 1% ในปี 2564 โดยให้กรอบเป้าหมายดัชนีปี 2565 สูงสุดอยู่ที่ 1,810 – 1,860 จุด

“ในช่วงต้นปี 2565 ตลาดหุ้นไทยอาจมีแรงกดดันช่วงสั้นๆ จากแรงขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ของปี 2559 ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาทในเดือนแรกของปี 2564 จากเม็ดเงินซื้อสะสมตามมูลค่าตลาด 6.38 หมื่นล้านบาท โดยมีต้นทุนเชิงเปรียบเทียบอยู่ที่ 1,504 จุด แต่อีกฝั่งนึงจะมีแรงพยุงจากฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่เริ่มเห็นโมเมนตัมไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้นในเดือนธันวาคม 2564 ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท และเริ่มเห็นการซื้อสุทธิต่อเนื่องในเดือนมกราคมนี้ รวมถึงกระแสการปรับลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) และปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่จะส่งผลให้สภาพคล่องในระบบการเงินหดหายไป” นายเทิดศักดิ์ กล่าว

© Matichon ภาพประกอบข่าว

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ยังกดดันหลักๆ คือ ติดตามผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หลังผู้ติดเชื้อในประเทศสูงขึ้น แต่เชื่อว่าผลกระทบต่อตลาดจะจำกัด เนื่องจากคาดการณ์ว่าภาครัฐจะไม่กลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มงวดเหมือนในปี 2563-2564 เพราะสถานการณ์ปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต ทั้งอัตราการฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 ที่สูงขึ้นกว่า 70% และท่าทีของรัฐบาลทั่วโลกที่ไม่จำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจเข้มงวด แต่เลือกจะจำกัดในบางพื้นที่แทน โดยรวมเชื่อว่าจะไม่เปิดช่องว่างดาวน์ไซด์ต่อคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยปี 2565 และคาดการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2565 อย่างมีนัยยะ

“จึงประเมินว่าเป็นโอกาสดีในการเข้าสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง เวลาที่ย่อตัวลงมา ซึ่งแนะนำกลยุทธ์ให้เน้นสะสมหุ้นพื้นฐานดี และมีแนวโน้มกำไรเติบโตเด่นในปีนี้ อาทิ STEC, IVL, SMT รวมถึงหุ้นปันผลเด่นที่ซึ่งจะมีเกราะป้องกันจากอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ AP, TISCO (จ่ายปันผลปีละ 1 ครั้ง) และ SCC, ADVANC  (จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง)”นายเทิดศักดิ์กล่าว

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยในปี 2564 กระโดดสูงมาก เฉลี่ยประมาณ 90,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นสูงๆ มาจาก Search for Yield หรือ พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าของนักลงทุน เพราะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากว่า 2 ปี ทำให้เห็นนักลงทุนรายย่อยเข้ามาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นไทยเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้หากดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป จะดันให้นักลงทุนรายย่อนอาจเข้ามาช่วยสนับสนุนตลาดแทนการซื้อหุ้นของกองทุนแอลทีเอฟ ที่หายไปได้ และจะเลือกลงทุนในตัวหุ้นที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพราะหุ้นขนาดเล็กในปี 2564 ราคาปรับขึ้นมาแล้ว 60-70%

© Matichon ภาพประกอบข่าว

 

รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำลังจะออกมาตรการแคชบาลานซ์ หรือการซื้อหุ้นด้วยบัญชีเงินสดเท่านั้น ห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย และห้ามซื้อขายเป็นการชั่วคราวแบบวันต่อวัน ซึ่งมีความเข้มข้นขึ้น ประกอบกับความกังวลของนักลงทุนที่พบว่า รัฐบาลเตรียมจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น (Financial Transaction tax) ทำให้แวลูเอชั่นของหุ้นขนาดเล็กที่ตึงตัวอยู่จะสามารถลดความร้อนแรงลง แต่เม็ดเงินที่ยังล้นอยู่นั้น น่าจะปรับเปลี่ยนมายังกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ หรือหุ้นปันผลที่ช่วงต้นปีมักยังปรับตัวขึ้นได้ช้ากว่าภาพรวมตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ หากคำนวณการจัดเก็บภาษีหุ้นที่ 0.1% ต่อการซื้อขายทุกรายการ โดยพิจารณาจากมูลค่าตลาดย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560-2564 ได้แก่ ปี 2560 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 11,652,311 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่จัดเก็บได้อยู่ที่ 11,652 ล้านบาท, ปี 2561 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 13,820,220 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่จัดเก็บได้อยู่ที่ 13,820 ล้านบาท, ปี 2562 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 12,802,091 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่จัดเก็บได้อยู่ที่ 12,802 ล้านบาท, ปี 2563 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 16,362,357 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่จัดเก็บได้อยู่ที่ 16,362 ล้านบาท, และปี 2564 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 21,314,782 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่จัดเก็บได้อยู่ที่ 21,315 ล้านบาท