เศรษฐกิจไทยปี 2565 เริ่มต้นด้วยความท้าทายอีกครั้ง หลังจากโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” มีการระบาดมากขึ้น ประเทศไทยจะรับมือกับปัจจัยลบที่เข้ามานี้อย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ถึงการดูแลเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
“โอไมครอน” เสี่ยงฉุดเศรษฐกิจ
โดย “ดนุชา” บอกว่า ก่อนหน้านี้ สศช.ประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ว่าจะขยายตัวได้ 4% ต่อปี (ช่วง 3.5-4.5%) มาจากสมมุติฐานที่เห็นว่าการส่งออกของไทยจะยังได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ ถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญ
ขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนก็สามารถทำได้ครบ 100 ล้านโดสแล้ว ดังนั้น หากสามารถควบคุมการระบาดของโควิดให้อยู่ในวงจำกัดได้ จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเคลื่อนตัวไปได้เรื่อย ๆ
“อีกส่วนหนึ่งคือ การท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ แต่พอเกิดโอไมครอน ก็ต้องดูว่าภาคการท่องเที่ยวจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เนื่องจากขณะนี้มีการระบาดกระจายไปเกือบทุกประเทศ และอัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูงดังนั้น
คงต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกก่อน เพราะหากเกิดการระบาดภายในประเทศ แน่นอนว่าจะกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศ”
สำหรับเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากการส่งออกก็มีการลงทุนภาคเอกชน และภาครัฐ โดยจะพยายามดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา อีกส่วนหนึ่งคือการบริโภคภายในประเทศจะเป็นตัวเสริม รวมถึงจะพยายามใช้มาตรการอื่น ๆ เข้ามาเสริมในการดูแล
กระตุ้นให้เกิดการลงทุน กระจายการจ้างงาน และกระจายประโยชน์ออกไป เช่น อุตสาหกรรมใหม่ การพยายามดึงเศรษฐีต่างชาติที่เกษียณแล้วแต่มีรายได้สูงจากต่างประเทศเข้ามาอยู่เมืองไทย ส่วนในระดับพื้นที่ แต่ละจังหวัดก็จะมีโครงการขึ้นมา ซึ่งมีวงเงินงบประมาณรองรับอยู่ราว 1 หมื่นล้านบาท
เล็งรักษาจ้างงานธุรกิจท่องเที่ยว
เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า สิ่งที่ สศช.เป็นห่วงคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ต่อเนื่องมาจากวิกฤตที่ผ่านมา โดยเฉพาะหนี้บุคคลที่เป็นการบริโภคผ่านบัตรเครดิต ซึ่งต้องมีการดูแลแก้ไข ที่ผ่านมา ธปท.ก็ออกมาตรการมาช่วยให้เกิดการผ่อนภาระให้แก่ประชาชน และเอสเอ็มอีด้วย
เช่นเดียวกับอัตราการว่างงาน ที่มาตรการที่รัฐออกไปเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน จะหมดอายุสิ้นเดือน ม.ค. 2565 จึงต้องมาดูว่าจะต่อหรือไม่อย่างไร
“หากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ภาคการผลิต ภาคส่งออก การจ้างงานก็จะขยายตัวดีขึ้น แต่ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวยังมีความเป็นห่วงโดยเฉพาะเมื่อมีไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอนเข้ามา อาจจะเกิดปัญหาในช่วงถัดไปได้ ดังนั้น อาจจะต้องมีมาตรการเสริมออกมา ซึ่งจะต้องดูสถานการณ์หลังวันที่ 4 ม.ค.ก่อน”
เกาะติดสถานการณ์เงินเฟ้อ
ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อที่ทั่วโลกกังวลก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด แต่คาดว่าในปี 2565 เงินเฟ้อของไทยจะไม่เกิน 1.9% ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ที่ 1-3% โดยเรื่องนี้ต้องจับตาสถานการณ์ในต่างประเทศเป็นหลักก่อนว่า ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ จะดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างไร
ส่วนไทยก็ต้องดูว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์มีการดูแลเรื่องราคาสินค้าอยู่ ส่วนราคาน้ำมันก็มีกลไกดูแลผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
“อย่างอังกฤษก็มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไป 0.1% แล้ว แต่ที่สำคัญจะต้องรอติดตามการดำเนินนโยบายของสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ก็มีสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้ หลายฝ่ายก็มองว่าเงินเฟ้อเป็นภาวะชั่วคราว แต่ก็ยังไว้ใจไม่ได้แน่นอนว่าเงินเฟ้อจะเป็นแรงกดดันเศรษฐกิจ เพราะถ้าธนาคารกลางประเทศสำคัญ ๆ ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น
และจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการของไทยคิดว่ายังอยู่ในกรอบที่วางไว้ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย ต้องจับตาเป็นรายไตรมาส”
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ สศช.บอกว่าการระบาดของโควิดเป็นประเด็นที่น่ากังวลที่สุด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าโอไมครอนจะมีความรุนแรงแค่ไหน เพราะหากมีการระบาดเป็นวงกว้าง จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวต้องหยุดชะงักไปอีก แบบที่เกิดขึ้นในไตรมาส 3 ของปี 2564 ซึ่งต้องระวังไม่ให้กระทบภาคส่งออก
ไม่ปิดประตู้กู้-รับมือโอไมครอน
ปัจจุบันเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท เหลือวงเงินอยู่ 1.8 แสนล้านบาท
ซึ่งคงต้องบริหารจัดการวงเงินที่เหลืออยู่ให้ดี อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีที่เลวร้ายที่สุด เกิดการระบาดของโอไมครอนเป็นวงกว้าง ก็ต้องมาพิจารณาดูว่าจำเป็นต้องกู้เงินอีกหรือไม่
ซึ่งไม่ได้ปิดประตูการกู้เงินเพิ่ม เพราะหากมีการระบาดเกินกว่าการควบคุมก็ต้องมาพิจารณา โดยที่ผ่านมาเพดานเงินกู้ก็ถูกขยายไปแล้ว
“เป็นการขยายเตรียมไว้เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังมากขึ้น สามารถดำเนินนโยบายต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งหากมีการระบาดหนักมากขึ้นก็อาจจะต้องมานั่งพิจารณาว่าจะต้องมีการกู้เงินเพิ่มหรือไม่” เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว